บริการสาธารณสุข Long term care
กลไกการดูแลผู้สูงอายุและครอบครัวข้ามรุ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ภายใต้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมของไทย แม้ความเป็นเมืองและความเจริญได้กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด ทว่าชุมชนก็ยังคงเป็นพื้นที่เชิงกายภาพที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการร่วมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านทางด้านประชากรที่เกิดขึ้นภายใต้การเป็นสังคมสูงวัยของไทย
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกวันโดยเฉพาะครัวเรือนเดี่ยวขนาดเล็กที่ปราศจากผู้ดูแล หรือปัญหาครัวเรือนข้ามรุ่น ที่มีเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุอยู่ด้วยกัน เป็นครัวเรือนที่ประกอบด้วยรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นหลาน ขาดรุ่นพ่อแม่ที่เป็นวัยแรงงาน เนื่องด้วยประชากรวัยแรงงานของครัวเรือนส่วนใหญ่มีการย้ายถิ่นออกไปทำงานที่อื่น ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นลักษณะของครัวเรือนเปราะบาง ในแง่ของความสามารถและความต้องการในการเอาใจใส่ดูแลที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
โครงการวิจัย “กลไกของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลครัวเรือนเปราะบาง: กรณีศึกษาครัวเรือนข้ามรุ่น และครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว” ได้ทำการศึกษาและสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการดูแลครัวเรือนเปราะบาง ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบริบทต่าง ๆ เพื่อค้นหาทางเลือกเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนการผลักดันกลไกการดูแลครัวเรือนเปราะบางในบริบทต่าง ๆ ของไทย
จากการศึกษาพบว่า บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในช่วงที่ผ่านมามีหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ถูกขับเคลื่อนผ่านแผนดำเนินงานของพื้นที่ซึ่งแตกต่างและหลากหลาย โดยพบว่ามีกลไกหลายอย่างที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ที่เป็นครัวเรือนข้ามรุ่นหรือครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้
กลไกหลักในการดูแลครัวเรือนเปราะบางที่มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียว หรืออยู่ด้วยกันตามลำพัง
การดูแลครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียว หรืออยู่ด้วยกันตามลำพัง จำแนกออกเป็น กลไกการส่งเสริมการรวมกลุ่ม และกลไกการช่วยเหลือฟื้นฟู กล่าวคือ กลไกการรวมกลุ่มนั้น สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในครัวเรือนเปราะบางที่ยังสามารถดูแลตนเองได้ เป็นกลไกหลักที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ในการส่งเสริมและกระตุ้นผู้สูงอายุให้เข้ามารวมกลุ่มกันทำกิจกรรม เพื่อช่วยลดความเปราะบางในด้านต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงเป็นการขยายระยะเวลาของการเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพฤฒพลัง (Active Aging) ด้วยการมี “ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ หรือศูนย์ส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ” การรวมกลุ่มดังกล่าวก็จะมีความหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มโอกาส สร้างพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ให้กับผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิผล ในปัจจุบันจะเน้นไปที่การลดความเปราะบางในด้านต่าง ๆ อาทิ สุขภาพกายและจิต ความมั่นคงทางรายได้ เป็นต้น
กลไกการช่วยเหลือฟื้นฟู ใช้สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในครัวเรือนเปราะบางที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงติดบ้านหรือติดเตียง พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มประชากรด้อยโอกาสที่จำเป็นต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือก่อน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือด้านการดูแลสุขภาพร่างกาย การรักษา บำบัด และฟื้นฟูอาการเจ็บป่วย โดยอาศัยกลไกการดูแลที่เป็นมาตรฐานภายใต้นโยบายกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) ขณะเดียวกันในหลายพื้นที่พบว่า มีการหนุนเสริมความเข้มแข็งด้วยกระบวนการเชิงชุมชน โดยใช้ “ระบบเพื่อนบ้าน” ในการช่วยสอดส่องดูแล คอยนำข้าวปลาอาหารไปส่งให้กับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวซึ่งอยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยกระบวนการดังกล่าวนี้จะมีความเด่นชัดในพื้นที่เขตชนบท ทั้งนี้ยังพบด้วยว่าบางพื้นที่มีกระบวนการฟื้นฟูผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงให้สามารถกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ อันหมายถึงการลดภาระการดูแลผู้สูงอายุไปโดยปริยาย
กลไกหลักในการดูแลเด็กที่อยู่ในครัวเรือนข้ามรุ่น
ข้อห่วงใยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีต่อกลุ่มครัวเรือนเปราะบางลักษณะนี้ ส่วนใหญ่ก็จะให้ความห่วงใยไปในเรื่องเกี่ยวกับ ภาวะโภชนาการ การเรียน และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของตัวเด็กเป็นหลัก ดังนั้นกิจกรรมการดูแลในเรื่องดังกล่าวจึงถูกดำเนินการผ่านทาง “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” หรือในชื่ออื่น ๆ ที่เรียกแตกต่างกันออกไป ทว่าการดูแลในส่วนนี้จะไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มเด็กที่มาจากครัวเรือนข้ามรุ่นเท่านั้น แต่จะดูแลกลุ่มเด็กที่ผู้ปกครองติดภารกิจหรือประสงค์ให้เข้ารับการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการในตัวเด็กด้วย และเพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย กิจกรรมในการสนับสนุนการพัฒนากลุ่มเด็กที่อยู่ในครัวเรือนข้ามรุ่นนี้คือ การสร้างความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างวัยที่มีระหว่างผู้สูงอายุและกลุ่มเด็ก โดยกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการในวงกว้าง พบเพียงไม่กี่พื้นที่ที่มีการดำเนินกิจกรรมในลักษณะนี้เท่านั้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเนื่องมากจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองยังไม่ได้เล็งเห็นว่า กลุ่มครัวเรือนข้ามรุ่นเป็นสถานการณ์ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เมื่อเปรียบเทียบกับครัวเรือนหรือกลุ่มประชากรด้อยโอกาสกลุ่มอื่น ๆ
ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการผลักดันกลไกการดูแลครัวเรือนเปราะบาง
จากการสังเคราะห์แนวทางที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการอยู่ งานวิจัยชิ้นนี้ได้เสนอทางเลือกเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการผลักดันกลไกการดูแลครัวเรือนเปราะบางในบริบทต่าง ๆ ของประเทศไทย ทั้งที่เป็นรูปแบบที่เป็นทางการและรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งดำเนินการผ่านกระบวนการชุมชน โดยมีจุดเน้นอยู่ที่การจำแนกคุณลักษณะของครัวเรือนเปราะบางในแต่ละรูปแบบในเชิงลึก ตลอดจนให้ความสำคัญกับช่วงวัยของประชากรสูงอายุแต่ละช่วง เพื่อให้ได้มาซึ่งทางเลือกในการจัดสรรและดูแลครัวเรือนเปราะบางได้อย่างเป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม ข้อเสนอดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลครัวเรือนเปราะบางระดับท้องถิ่น ข้อค้นพบชี้ให้เห็นถึงการจัดทำฐานข้อมูลครัวเรือนเปราะบางในระดับท้องถิ่น ที่จะช่วยกระตุ้นความตระหนักและการรับรู้ที่เท่าทันต่อสถานการณ์ครัวเรือนเปราะบางในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การออกแบบและกำหนดนโยบาย ตลอดจนมีแนวทางการดำเนินการเพื่อดูแลครัวเรือนเปราะบางที่เหมาะสมกับบริบทที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการสร้างความเข้าใจเรื่องครัวเรือนเปราะบาง คล้ายกับที่เคยสร้างความเข้าใจเรื่องสังคมสูงวัยที่ประสบผลสำเร็จในปัจจุบัน
ประการต่อมา ควรมีการกำหนดจุดเน้นไปที่บทบาทของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ให้ทำหน้าที่เสริมสร้างศักยภาพและขยายระยะเวลาของการเป็น Active aging เพื่อลดความเปราะบางที่อาจจะเกิดขึ้น โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างศักยภาพให้กับผู้สูงอายุที่ยังสามารถดูแลตนเองได้ให้สามารถมีวิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งสามารถดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการลดความเปราะบางของครัวเรือนได้เป็นอย่างดี จะเป็นการเตรียมพร้อมประชากรในการเข้าสู่วัยสูงอายุด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ที่สำคัญคือจะเป็นการยกระดับกิจกรรมดำเนินการของศูนย์ฯ ให้มีความครอบคลุมความเปราะบางที่ไม่ได้เน้นเพียงแต่การทำกิจกรรมเพื่อนันทนาการเท่านั้น
ประการสุดท้าย ควรมีการขยายบทบาทศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการดำเนินกิจกรรมพิเศษสำหรับครัวเรือนข้ามรุ่น ซึ่งในปัจจุบันการดูแลครัวเรือนเปราะบางที่เป็นครัวเรือนข้ามรุ่น ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามหรือให้ความสำคัญไม่มากเท่าที่ควรในมุมมองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ ส่งผลให้กระบวนการดูแลเด็กในครัวเรือนเปราะบางมีประเด็นเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนและทางผู้ปกครองที่เป็นผู้สูงอายุอาจไม่มีความรู้หรือความเข้าใจในด้านการให้คำปรึกษา เช่น การทำการบ้าน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลครัวเรือนเปราะบาง ฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยให้การทำงานด้านการดูแลครัวเรือนเปราะบางในกรณีศึกษานี้ประสบความสำเร็จก็คือ “ชุมชน” การแสดงบทบาทอย่างไม่เป็นทางการในการกระตุ้นและสนับสนุนกิจกรรมให้ชุมชนเกิดการมีส่วนร่วม ทั้งในด้านการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการริเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง จะเป็นแนวทางที่นำไปสู่ความยั่งยืนได้มากที่สุด เพราะหากใช้กลไกเชิงนโยบายแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนวาระผู้บริหารองค์กร นโยบายต่าง ๆ ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่หากทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมขึ้นโดยประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ กิจกรรมเหล่านั้นก็จะคงอยู่อย่างยั่งยืนและมีการปฏิบัติสืบต่อกันจนกลายเป็นธรรมเนียมนิยมของพื้นที่นั้น ๆ ในที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจากโครงการวิจัย “กลไกของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลครัวเรือนเปราะบางกรณีศึกษาครัวเรือนข้ามรุ่นและครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว” หัวหน้าโครงการ : ปิยวัฒน์ เกตุวงศา |